ทำอย่างไร? “ไอเรื้อรัง” ไม่หายสักที
ทำอย่างไร? “ไอเรื้อรัง” ไม่หายสักที
อาการไอ เป็นการขับลมผ่านสายเสียงที่ปิด เป็นกลไกการตอบสนองของร่างกายอย่างหนึ่งต่อสิ่งผิดปกติในทางเดินหายใจ และยังเป็นกลไกป้องกันที่สำคัญของร่างกายในการกำจัดเชื้อโรค เสมหะ หรือสิ่งแปลกปลอมในทางเดินหายใจ อาการไอจะเกิดขึ้นได้ต้องมีสิ่งกระตุ้นที่ตัวรับสัญญาณการไอก่อน ซึ่งตัวรับสัญญาณการไอในร่างกายของเรามีตั้งแต่ ช่องหู เยื่อบุแก้วหู จมูก โพรงจมูก ไซนัส คอหอย กล่องเสียง หลอดลม ปอด กะบังลม เยื่อหุ้มปอด เยื่อหุ้มหัวใจ และกระเพาะอาหาร เมื่อมีเหตุกระตุ้นไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม สารเคมี หรือรอยโรคบางอย่าง ตัวรับสัญญาณการไอจะส่งสัญญาณไปที่ศูนย์ควบคุมการไอในสมอง ซึ่งจะส่งสัญญาณต่อไปที่กล้ามเนื้อและอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการไอ เช่น กล้ามเนื้อกะบังลม กล้ามเนื้อซี่โครง กล้ามเนื้อท้อง กล้ามเนื้อกล่องเสียง และกล้ามเนื้อหลอดลม ทำให้เกิดกระบวนการไอขึ้น
หากแบ่งตามระยะเวลาของอาการไอ เราสามารถแบ่งอาการไอได้เป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ ไอเฉียบพลัน และ ไอเรื้อรัง การไอแต่ละชนิดมีสาเหตุจากอะไร มีวิธีการรักษาและป้องกันอย่างไร หาคำตอบได้ในบทความนี้
อาการไอหากแบ่งตามระยะเวลาสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ ได้แก่
- ไอเฉียบพลัน คือ มีระยะเวลาของอาการไอน้อยกว่า 8 สัปดาห์
- ไอเรื้อรัง คือ มีระยะเวลาของอาการไอมากกว่าหรือเท่ากับ 8 สัปดาห์
สาเหตุของอาการไอเฉียบพลัน
ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน (เช่น หวัด ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน คออักเสบ กล่องเสียงอักเสบ) หลอดลมอักเสบ อาการกำเริบของถุงลมโป่งพอง ปอดอักเสบ การมีสิ่งแปลกปลอมในช่องหู จมูก หลอดลม หรือการสัมผัสกับสารระคายเคืองในสิ่งแวดล้อม เช่น ควันบุหรี่ แก๊ส กลิ่นสเปรย์ ควันไฟ และมลพิษทางอากาศ เป็นต้น
สาเหตุของอาการไอเรื้อรัง
ในขณะที่ไอเรื้อรังเป็นปัญหาที่พบได้ถึงร้อยละ 11 – 20 ของจำนวนประชากร โดยพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย การหาสาเหตุของอาการไอเรื้อรังอาจต้องอาศัยความร่วมมือจากแพทย์หลายสาขา เช่น แพทย์หู คอ จมูก อายุรแพทย์โรคภูมิแพ้และโรคปอด อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร จะช่วยให้ค้นหาสาเหตุของอาการไอได้ง่ายขึ้น เนื่องจากอาการไอเรื้อรังเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือโรคไซนัสอักเสบเรื้อรังแล้วมีน้ำมูกไหลลงคอ
การใช้เสียงมากทำให้เกิดสายเสียงอักเสบเรื้อรัง เนื้องอกบริเวณคอ กล่องเสียง หรือหลอดลม กรดไหลย้อน หลอดลมอักเสบเรื้อรัง หืด วัณโรคปอด การรับประทานยารักษาความดันโลหิตสูงชนิด angiotensin converting enzyme inhibitor (ACE-I) เป็นระยะเวลานาน และโรคของสมองส่วนที่ควบคุมการไอ เป็นต้น
แต่สาเหตุที่พบส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 85 ของผู้ป่วยที่แข็งแรงดีมาก่อน ไม่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ไม่สูบบุหรี่ ไม่รับประทานยารักษาความดันโลหิตสูงชนิด ACE-I และมีภาพรังสีทรวงอกปกติ มักเกิดจาก โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือโรคไซนัสอักเสบเรื้อรังแล้วมีน้ำมูกไหลลงคอ โรคหืด และโรคกรดไหลย้อน